Hfocus (เจาะลึกระบบสุขภาพ)

  1. มุกดาหารพบป่วย ‘โรคแอนแทรกซ์’ รายใหม่เพิ่ม 1 ราย กลุ่มเสี่ยง 538 ราย สิ้นสุดการเฝ้าระวัง

    มุกดาหารพบป่วย ‘โรคแอนแทรกซ์’ รายใหม่เพิ่ม 1 ราย กลุ่มเสี่ยง 538 ราย สิ้นสุดการเฝ้าระวัง

    สสจ.มุกดาหารพบผู้ป่วย ‘โรคแอนแทรกซ์’ เพิ่ม 1 ราย โดย 2 รายรักษาตัวในรพ. อีก 1 รายเสียชีวิต ทั้งหมดเป็นกลุ่มชำแหละ เหลือกลุ่มเสี่ยง 98 ราย อยู่ในระยะเฝ้าระวังโรคทางผิวหนังและทางเดินอาหาร ส่วน 538 รายสิ้นสุดเฝ้าระวัง

    เมื่อวันที่ 4 พ.ค. 2568 เพจเฟซบุ๊ก สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดมุกดาหาร เผยถึงสถานการณ์โรคแอนแทรกซ์ โดยระบุว่า สถานการณ์โรคแอนแทรกซ์ จังหวัดมุกดาหาร ประจำวันที่ 4 พฤษภาคม 2568 เวลา 14.00 น.

    พบผู้ป่วยยืนยันรายใหม่วันนี้  1 ราย สะสมรวม 3 ราย เสียชีวิต 1 ราย อยู่ระหว่างรักษา 2 ราย (รพ.มุกดาหาร และ รพ.ดอนตาล แห่งละ 1 ราย)

    ผู้สัมผัส สิ้นสุดระยะเวลาเฝ้าระวังโรค 538 ราย เพราะผลระยะฟักตัวทางผิวหนังและทางเดินอาหาร 7 วัน หลังจากประชุมกับ นายแพทย์โรม บัวทอง ผู้เชี่ยวชาญจากกรมควบคุมโรค ผู้อำนวยการกองด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศและกักกันโรค

    hfocus team tipe Sun, 05/04/2025 - 18:23
  2. ย้อนปม “พยาบาลไตเทียม” หนึ่งใน “แรงงานสาธารณสุข” ดูแลผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง

    ย้อนปม “พยาบาลไตเทียม” หนึ่งใน “แรงงานสาธารณสุข” ดูแลผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง

    เปิดไทม์ไลน์ย้อนปัญหา “พยาบาลไตเทียม” ร้องศาลปกครอง หนึ่งใน “แรงงานสาธารณสุข” ที่หลายคนอาจมองข้าม

     

    วันแรงงานที่ผ่านมา(1 พ.ค.68) เกิดปรากฎการณ์ที่เห็นเด่นชัดว่า บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข คือ แรงงาน ในระบบสาธารณสุขอย่างแท้จริง นั่นคือ การเรียกร้องของกลุ่มพยาบาลไตเทียม ที่ปฏิบัติงานในห้องฟอกไตของสถานพยาบาลต่างๆ จำนวนราว 1,000 คน กำลังประสบปัญหาการทำงาน จนต้องออกมาเรียกร้อง พร้อมยื่นเรื่องร้องต่อศาลปกครองขอให้ระงับประกาศกระทรวงสาธารณสุข และข้อบังคับของสภาการพยาบาลที่มีผลต่อการปฏิบัติงาน “พยาบาลห้องฟอกไต”

    “เรามายื่นร้องต่อศาลปกครองครั้งนี้ เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2568 ที่บังคับใช้และมีผลต่อการปฏิบัติงานของพยาบาลไตเทียมราว 1,000 คน ทำให้ไม่สามารถทำงานได้อย่างถูกต้อง เพราะประกาศดังกล่าวยึดโยงกับข้อบังคับของสภาการพยาบาลที่ให้พยาบาลไตเทียม ต้องขึ้นทะเบียนเป็น ‘พยาบาลเวชปฏิบัติการบำบัดทดแทนไต’ ” พิราวรรณ ศรีไหม ตัวแทนพยาบาลห้องฟอกไตที่ได้รับผลกระทบ เล่าถึงที่มา พร้อมอธิบายเพิ่มเติมว่า

    จากประกาศดังกล่าว พวกตนไปยื่นขึ้นทะเบียนกลับไม่ผ่านการรับรอง เพราะระบุว่าหลักสูตรที่พวกตนเรียนกันมา เป็นหลักสูตรเก่า ไม่รับรองตามหลักสูตรใหม่ กลายเป็นว่า พยาบาลไตเทียมที่ทำงานในห้องฟอกไต ดูแลผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังกันมาเป็น 10-20 ปี ไม่ผ่านการรับรองของสภาการพยาบาล ต้องเรียนหลักสูตรใหม่ตามประกาศฉบับใหม่ ซึ่งค่าอบรมสูงถึง 40,000 บาท หากไม่ผ่านหลักสูตรนี้ก็แสดงว่า ไม่สามารถทำงานได้ถูกต้องตามกฎหมาย หากยังทำได้ก็ต้องทำภายใต้ความเสี่ยง  กลายเป็นพยาบาลที่ไม่มีวิชาชีพรองรับ ทำงานไร้การคุ้มครองจากวิชาชีพ หากหยุดทำงานก็จะส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยโรคไต

    แม้ล่าสุดสภาการพยาบาล จะออกแถลงผ่านเพจเฟชบุ๊กของสภาฯ ระบุถึงแนวทางช่วยเหลือ คือ เตรียมเปิดหลักสูตรพยาบาลเฉพาะทาง ในลักษณะเทียบโอน ซึ่งหลักสูตรนี้จะได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการจากสภาการพยาบาล ปัจจุบันอยู่ระหว่างขั้นตอนการจัดทำและรับรองหลักสูตรเทียบโอน  พร้อมทั้งยกตัวอย่างว่า ในอดีตที่ผ่านมา เมื่อปี 2551-2552 สภาการพยาบาลได้ช่วยแก้ไขปัญหานี้มาครั้งหนึ่งแล้ว ตามที่พยาบาลผู้เชี่ยวชาญไตเทียมกลุ่มหนึ่งที่ประสบปัญหาดังกล่าวร้องขอ โดยได้จัดโครงการพิเศษสำหรับพยาบาลผู้เชี่ยวชาญด้านไตเทียม เป็นหลักสูตรที่สภาการพยาบาลรับรอง โดยขณะนั้นมีพยาบาลกลุ่มนี้เข้าเรียนและสอบผ่าน จำนวน 813 คน และล่าสุดปี 2568 นี้ สภาฯ จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหานี้อีกครั้ง   

    (ข่าวเกี่ยวข้อง : พยาบาลโรคไตร้องศาลปกครอง ขอไต่สวนฉุกเฉิน เหตุรับผลกระทบจากประกาศกระทรวงฯ ฉบับใหม่)

    เพื่อให้เห็นถึงสาเหตุของปัญหา ผู้สื่อข่าว Hfocus จึงได้สรุปไทม์ไลน์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น ร่วมกับการสอบถามข้อมูลจากทางผู้แทนพยาบาลไตเทียม โดย Time Line  พยาบาลเวชปฏิบัติการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ย้อนหลังไปตั้งแต่ปี 2519 จนถึงปี 2568 ดังนี้

    พ.ศ.2519:ก่อตั้งมูลนิธิโรคไตแห่งประเทศไทย

    พ.ศ.2520-2530: เริ่มการฝึกภายใน รพ.ราชวิถี มูลนิธิโรคไต รพ.สงฆ์ และรพ.ต่างๆ ผลิตพยาบาลดูแลผู้ป่วยฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม

    พ.ศ.2535:เริ่มเปิดอบรมหลักสูตรไตเทียม 4 เดือน ตามโรงเรียนแพทย์ เช่น รพ.จุฬาลงกรณ์ รพ.ศิริราช วชิรพยาบาล รวมถึงมูลนิธิโรคไต โรงพยาบาลสงฆ์ และตามโรงเรียนแพทย์ในภูมิภาค เช่น รพ.มหาราชนครเชียงใหม่(มช.) รพ.ศรีนครินทร์ (มข.) เป็นต้น

    พ.ศ.2538:เปิดให้มีการสอบเพื่อรับประกาศนียบัตรพยาบาลผู้เชี่ยวชาญไตเทียม จากสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย รุ่นที่ 1 โดยมีข้อกำหนดว่าต้องมีประสบการณ์ทำงานไม่ต่ำกว่า 5  และหรือผ่านการอบรมหลักสูตรไตเทียม 4 เดือน

    พ.ศ.2552-2553:สภาการพยาบาล ประกาศให้มีการอบรมและสอบวัดความรู้(โครงการพิเศษ) หลักสูตรเฉพาะทางสภาการพยาบาลผู้ป่วยที่ได้รับการบำบัดทดแทนไต(เฉพาะผู้ผ่านการประกาศนียบัตรพยาบาลผู้เชี่ยวชาญฟอกเลือด)

    *จัดเพียง 2 ปี หลังจากนั้นไม่เคยเปิดหลักสูตรอีก

    พ.ศ.2554:มีประกาศกระทรวงสาธารณสุขกำหนดมาตรฐานสถานพยาบาล กำหนดให้พยาบาลไตเทียมต้องได้รับการฝึกอบรมจากสถาบันที่ คณะกรรมการสถานพยาบาลรับรอง

    *พยาบาลที่ปฏิบัติงานห้องฟอกไต ยึดปฏิบัติตามประกาศนี้มาตลอด

    พ.ศ.2563: มีประกาศข้อบังคับสภาการพยาบาลเงื่อนไขการประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์(ฉบับที่5) ให้พยาบาลผู้ผ่านการอบรมเฉพาะทางไตเทียมและขึ้นทะเบียนเวชปฏิบัติการบำบัดทดแทนไต เป็นผู้ทำหัตถการการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม

    *ประกาศข้อบังคับฉบับนี้ทำให้ต้องมีการขึ้นทะเบียนกันใหม่  แต่ขณะออกประกาศในปีนั้นยังไม่มีหลักสูตรหรือแนวทางใดออกมา

    พ.ศ.2567: สภาการพยาบาลประกาศให้แจ้งขึ้นทะเบียนเวชปฏิบัติโดยให้สมาชิกที่จบหลักสูตรก่อนปี 2566 แจ้งความจำนงผ่าน Email : [email protected] แต่ปรากฎว่า มีการปฏิเสธการขึ้นทะเบียนให้กับพยาบาลผู้เชี่ยวชาญไตเทียมมากกว่า  500 ราย โดยให้เหตุผลว่า ไม่ได้ผ่านการอบรมหลักสูตรที่สภาการพยาบาลรับรอง 

    *จุดนี้ทำให้เกิดประเด็นการร้องเรียนดังกล่าวขึ้น

    พ.ศ.2568:มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง มาตรฐานการให้บริการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมในสถานพยาบาล (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2568  (ประกาศวันที่ 11 ก.พ.2568) กำหนดให้พยาบาลไตเทียมต้องได้รับการฝึกอบรมจากสถาบันที่สภาการพยาบาลรับรองเท่านั้น (เป็นการแก้ไขประกาศกระทรวงฯฉบับ พ.ศ.2554)   

    นอกจากนี้  สมาคมพยาบาลโรคไตแห่งประเทศไทย แจ้งว่าจะมีการ  Upskill / Reskill รอหลักสูตรแล้วเสร็จภายในปี 2568 และให้เรียนหลักสูตร Advanced Cardiac Life Support (ACLS) เตรียมไว้

    ขณะที่ ฝ่ายการพยาบาล โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เปิดหลักสูตรฝึกอบรมพยาบาลเฉพาะทาง สาขาเวชปฏิบัติการบำบัดทดแทนไต แต่รับผู้เข้าเรียนเพียง 250 คน ซึ่งเป็นหลักสูตรเดียวในประเทศไทยที่สภาการพยาบาลยอมรับ ซึ่งเสียค่าใช้จ่าย 40,000 บาท  

    จากประเด็นดังกล่าว ทำให้เกิดคำถาม โดย “พิราวรรณ ศรีไหม”  ผู้แทนพยาบาลไตเทียม มองว่า เหตุใดสภาพยาบาลจึงไม่ออกใบวิชาชีพพยาบาลไตเทียมให้กับคนกลุ่มนี้ ทั้งที่ผ่านการอบรมแล้ว ทำงานแล้วกล่าว 5 ปี ส่วนใหญ่อาจเกิน 10ปี คนกลุ่มนี้ผ่านการสอบวุฒิผู้เชี่ยวชาญจากสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย กฎหมายฉบัยดังกล่าวเป็นการใช้บังคับย้อนหลัง สังคมไม่ได้ประโยชน์อะไรจากการกระทำนี้ กฎหมายนี้ทำให้พยาบาลที่ปฎิบัติหน้าที่อย่างถูกต้องกลายเป็นผู้กระทำผิด หรือไม่มีสิทธิ์ดูแลผู้ป่วยอีกต่อไป ทั้งทีสถานะการณ์ขณะนี้ก็มีการขาดแคลนพยาบาลไตเทียมอย่างรุนแรง โดยเฉพาะกลุ่มที่มีวุฒิผู้เชี่ยวชาญ

    “ จากปัญหาดังกล่าว ทำให้เกิดผลกระทบต่อพยาบาลไตเทียมที่ปฏิบัติงานมานานกว่า 20 ปี หลายคนจะเกษียณอยู่แล้ว แต่กลับต้องมาให้เสียค่าอบรมหลักสูตรแพงขนาดนี้ ทั้งที่โดยหลักกฎหมายใหม่ ไม่ควรมีผลย้อนหลัง แบบนี้เป็นการลิดรอนสิทธิของผู้ปฏิบัติงานหรือไม่ เราเป็นพยาบาล แต่เป็นคนทำงาน เป็นแรงงานในสาธารณสุข ไม่ควรถูกปฏิบัติเช่นนี้ และไม่เพียงส่งผลกระทบต่อวิชาชีพต่อการทำงานของพวกเรา แต่ยังส่งผลต่อผู้ป่วยโรคไต เพราะสุดท้ายหากเราไม่ได้รับการรับรอง เราก็ไม่สามารถทำงานได้ ก็ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่” พิราวรรณ กล่าวทิ้งท้าย

    (ข่าว :  สภาการพยาบาลแจงอีกครั้ง! เผยทางออกช่วย ‘พยาบาลโรคไต’ รุ่นเก่าราว 1 พันคนไม่ผ่านการขึ้นทะเบียน)

    presscomdivi Sun, 05/04/2025 - 13:48
  3. นายกสภาการพยาบาลแจงอีกครั้ง! เผยทางออกช่วย ‘พยาบาลโรคไต’ รุ่นเก่าราว 1 พันคนไม่ผ่านการขึ้นทะเบียน

    นายกสภาการพยาบาลแจงอีกครั้ง! เผยทางออกช่วย ‘พยาบาลโรคไต’ รุ่นเก่าราว 1 พันคนไม่ผ่านการขึ้นทะเบียน

    สภาการพยาบาลแจงอีกครั้ง! เผยแพร่คลิปวิดีโอนายกสภาฯปม “พยาบาลโรคไต” รุ่นเก่าไม่ผ่านการขึ้นทะเบียน เล็งออก ‘หลักสูตรเทียบโอน’ ช่วยเหลือ 

    หลังจากที่ สภาการพยาบาลออกประกาศใหม่ เพิ่มเงื่อนไขการขึ้นทะเบียน “พยาบาลไตเทียม” ทำพยาบาลรุ่นเก่าที่ผ่านการอบรมจากมหาวิทยาลัย กลับถูกปฏิเสธการขึ้นทะเบียนกว่าพันราย อีกทั้งที่ผ่านมา กลุ่มพยาบาลโรคไตเดินทางเข้าร้องต่อศาลปกครอง  ขอไต่สวนฉุกเฉิน เหตุรับผลกระทบจากประกาศกระทรวงฯ ฉบับใหม่ และขอทุเลาข้อบังคับของสภาการพยาบาล ให้สามารถทำงานถูกต้องตามกฎหมาย หวั่นผลกระทบต้องปิดศูนย์ไต กระทบผู้ป่วยโรคไตจำนวนมากนั้น

    (ข่าว : พยาบาลโรคไตร้องศาลปกครอง ขอไต่สวนฉุกเฉิน เหตุรับผลกระทบจากประกาศกระทรวงฯ ฉบับใหม่)

    ล่าสุดวานนี้ 3 พ.ค. 2568  รศ.ดร.สุจิตรา เหลืองอมรเลิศ นายกสภาการพยาบาลแถลงผ่านเฟซบุ๊ก สภาการพยาบาล ถึงประเด็นดังกล่าวว่า  ในนามของสภาการพยาบาลที่ได้รับทราบข้อมูลของน้องน้องจากสื่อออนไลน์ในเรื่องที่พยาบาลจำนวนหนึ่งยังไม่เคยได้รับการอบรมหลักสูตรเวชปฏิบัติบำบัดทดแทนไตที่สภาการพยาบาลได้รับการรับรองอีกทั้งทางสมาคมพยาบาลโรคไตได้นำข้อมูลนี้มาปรึกษาหารือที่สภาการพยาบาลเมื่อวันที่ 22 เมษายนที่ผ่านมา

    สภาการพยาบาลขอเรียนให้ทุกท่านทราบว่าสภาการพยาบาลมีความเข้าใจและข้อกังวลดังกล่าวและได้ประสานเชิญทุกฝ่ายเข้ามาปรึกษาหารือเพื่อร่วมกันช่วยเหลือคลี่คลายข้อกังวลต่างๆให้ได้ข้อยุติที่จะช่วยให้พยาบาลผ่านหลักสูตรการพยาบาลเฉพาะทางบำบัดทดแทนไต ที่สภาการพยาบาลรับรอง 

    สำหรับแนวทางที่เตรียมไว้เป็นการเปิดหลักสูตรพยาบาลเฉพาะทาง ในลักษณะของการเทียบโอนและสภาการพยาบาลให้การรับรองในหลักสูตรดังกล่าว ขณะนี้อยู่ในระหว่าง การทำงานร่วมกันของสมาคมพยาบาลโรคไตกับสภาการพยาบาลที่ได้จัดทำหลักสูตรเทียบโอนและการรับรองหลักสูตรการจัดเตรียมการเปิดอบรมให้เร็วที่สุด จึงขอให้พยาบาลผู้เชี่ยวชาญไตเทียมได้ติดตามและเตรียมการเพื่อเข้ารับการอบรมในเวลาต่อไป

    ในอดีตที่ผ่านมาเมื่อปีพ.ศ. 2551 และ พ.ศ. 2552 สภาการพยาบาลได้ช่วยแก้ไขปัญหาเช่นเดียวกันนี้มาแล้ว ตามที่พยาบาลผู้เชี่ยวชาญไตเทียมได้ร้องขอ ในครั้งนั้นโดยได้จัดโครงการพิเศษสำหรับพยาบาลผู้เชี่ยวชาญไตเทียมเป็นหลักสูตรที่สภาการพยาบาลรับรองโดยในปีนั้นมีพยาบาลได้เข้ามาเรียนและสอบผ่านเป็นจำนวนทั้งสิ้น 813 คน

    สำหรับในปีพ.ศ. 2568 นี้ก็ถือได้ว่าเป็นการเข้ามาช่วยแก้ปัญหานี้ครั้งที่สองและขอความร่วมมือพยาบาลผู้เชี่ยวชาญไตรเทียมได้เข้าสู่กระบวนการของหลักสูตรเทียบโอนเพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้ตามมาตรฐานต่อไป

     

    hfocus team tipe Sun, 05/04/2025 - 12:50
  4. กรมการแพทย์แผนไทยฯ แนะปชช.ตรวจสอบใบรับรองให้ชัดเจน ก่อนรักษากับ "หมอพื้นบ้าน"

    กรมการแพทย์แผนไทยฯ แนะปชช.ตรวจสอบใบรับรองให้ชัดเจน ก่อนรักษากับ "หมอพื้นบ้าน"

    กรมการแพทย์แผนไทยฯ แนะปชช.ตรวจสอบใบรับรองให้ชัดเจน ก่อนรักษากับ "หมอพื้นบ้าน" หวั่นเกิดอันตรายต่อสุขภาพหากรักษากับหมอเถื่อน ขณะที่ผู้แอบอ้างโพสต์ข้อความโอ้อวดสรรพคุณ อาจเข้าข่ายโฆษณาเกินจริง มีความผิดตามกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2556

    เมื่อวันที่ 4 พ.ค. 2568 นพ.สมฤกษ์ จึงสมาน อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวถึงกรณีที่มีการโพสต์ข้อความผ่านสังคมออนไลน์แอบอ้างเป็นหมอพื้นบ้าน สามารถรักษาอาการเจ็บป่วยประชาชนได้ ว่ากรณีดังกล่าวมีประชาชนร้องเรียนมายังกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ให้มีการตรวจสอบ เนื่องจากปรากฏว่ามีผู้แอบอ้าง สามารถรักษาอาการเจ็บป่วย อวดอ้างสรรพคุณมีภูมิปัญญาโบราณพื้นบ้าน

    จึงได้มอบหมายฝ่ายที่เกี่ยวข้องเร่งหาข้อมูลทำการตรวจสอบให้เกิดความชัดเจนโดยเร็ว เพราะหากไม่ได้เป็นหมอพื้นบ้านตามที่กระทรวงสาธารณสุขรับรองนั้น  อาจเกิดผลกระทบต่อประชาชนหลงเชื่อไปรับการรักษา ทำให้ได้รับการรักษาที่ไม่ถูกต้อง เป็นอันตรายต่อสุขภาพบางรายอาจทำให้พิการหรือเสียชีวิต ซึ่งส่งผลกระทบต่อหมอพื้นบ้านตัวจริง ทำให้คนขาดความเชื่อมั่นในภูมิปัญญาท้องถิ่น 

    นพ.สมฤกษ์ กล่าวว่ากระทรวงสาธารณสุขได้ตระหนักและเห็นความสำคัญของหมอพื้นบ้าน จึงได้จัดทำระเบียบกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยการรับรองหมอพื้นบ้านพ.ศ. 2562 มีการกำหนดคุณสมบัติต่างๆ อย่างเข้มข้น ทั้งอายุ  คุณธรรม จริยธรรม มีความรู้ความสามารถ มีความชำนาญจากการสืบทอดภูมิปัญหาที่สืบทอดมาต้องไม่น้อยกว่า 10 ปี เป็นที่รู้จักและได้รับยอมรับจากคนในชุมชน ผ่านการเสนอชื่อจากคณะกรรมการหมู่บ้าน ชุมชน ท้องถิ่นและรับรองโดยกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้ได้หมอพื้นบ้านตัวจริง 

    ดังนั้น หากประชาชนมีความประสงค์รักษาโรคกับหมอพื้นบ้าน ต้องสอบถามให้แน่ใจว่าบุคคลดังกล่าว มีหนังสือรับรองการเป็นหมอพื้นบ้านจากกระทรวงสาธารณสุขหรือไม่ และหมอพื้นบ้านคนดังกล่าวมีความเชี่ยวชาญในการรักษาโรค ด้านใด สอดคล้องกับโรคของตนเองที่ต้องการไปรับการรักษาหรือไม่ หรือหากเกิดข้อสงสัยสามารถสอบถามกับแพทย์แผนไทยหรือบุคลากรสาธารณสุขในหน่วยบริการของรัฐได้ทั่วประเทศ หรือติดต่อโดยตรงที่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก 0 2149 5678 หรือช่องทางออนไลน์เฟซบุ๊กและไลน์แอดกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก

    ด้าน ดร.นันทศักดิ์ โชติชนะเดชาวงศ์ ผู้อำนวยการกองคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและแพทย์พื้นบ้านไทย กล่าวว่า ตามมาตรา 31 แห่ง พระราชบัญญัติวิชาชีพการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2556 เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการห้ามไม่ให้ผู้ใดประกอบวิชาชีพแพทย์แผนไทยหรือแพทย์แผนไทยประยุกต์หากฝ่าฝืนจะมีความผิด ตามมาตรา 53 และ ต้องระวังโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ การโฆษณาการรักษาโดยไม่มีใบอนุญาตอาจเข้าข่ายการโฆษณาเกินจริงหรือหลอกลวงผู้บริโภค และการเผยแพร่เนื้อหาผ่านโซเชียลมีเดีย

    ในลักษณะการรักษา ผ่าน TikTok หรือ Facebook โดยไม่มีใบอนุญาต อาจเข้าข่ายการโฆษณาที่ผิดกฎหมาย โดยเฉพาะการอ้างสรรพคุณในการรักษาโรค หรือ อาการต่างๆ นอกจากนี้ หากมีการเผยแพร่ภาพหรือวิดีโอของผู้ป่วยโดยไม่ได้รับความยินยอม อาจเข้าข่ายการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล และอาจมีความผิดตามพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 มาตรา 16 ซึ่งระบุว่าการนำข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่นมาเผยแพร่โดยไม่ได้รับความยินยอม ถือเป็นความผิดตามกฎหมาย 

    กรณีมีอาการรุนแรงหรือฉุกเฉิน เช่น อัมพฤกษ์ อัมพาต หอบเหนื่อย เจ็บหน้าอก ควรรีบพบแพทย์แผนปัจจุบัน ไม่ควรเชื่อคำกล่าวอ้างเกินจริง เช่น “รักษาได้ทุกโรค” หรือ “ไม่ต้องไปโรงพยาบาลอีก”หมอพื้นบ้านที่โฆษณาในสื่อโซเชียลมีเดีย ควรตรวจสอบความน่าเชื่อถือก่อน เช่น มีการแสดงใบรับรอง หรือได้รับการแนะนำจากหน่วยงานท้องถิ่น ทั้งนี้ หมอพื้นบ้านไทย มีบทบาทสำคัญในการดูแลสุขภาพประชาชน โดยเฉพาะในระดับชุมชน ซึ่งเป็นพลังสำคัญของระบบสุขภาพไทย

     

    hfocus team tipe Sun, 05/04/2025 - 11:10
  5. ชวนคนไทยใช้ “สิทธิบัตรทอง” คัดกรอง 5 มะเร็งค้นหาความเสี่ยงและระยะเริ่มต้น

    ชวนคนไทยใช้ “สิทธิบัตรทอง” คัดกรอง 5 มะเร็งค้นหาความเสี่ยงและระยะเริ่มต้น

    “สมศักดิ์” ชวนคนไทยทุกคน ทุกสิทธิ ใช้ “สิทธิบัตรทอง” รับบริการคัดกรองมะเร็ง 6 รายการ ป้องกัน 5 โรคมะเร็งร้าย ค้นหาความเสี่ยงและระยะเริ่มต้น เข้ารับการรักษาก่อนสู่ระยะลุกลาม เผยปี 2568 สปสช. จัดสรรงบบัตรทองรองรับให้บริการกว่า 800 ล้านบาท ดูแลคนไทยเข้าถึงบริการคัดกรองมะเร็งร้ายอย่างต่อเนื่อง

    เมื่อวันที่ 4 พ.ค. 2568 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า มะเร็งเป็นโรคร้ายที่มีอาการรุนแรงและมีอัตราการเสียชีวิตที่สูงมาก ทั้งมีค่าใช้จ่ายในการรักษาที่มีราคาแพงมากจากภาวะของโรคที่มีความซับซ้อน ดังนั้นการเข้ารับบริการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ในการค้นหาผู้ที่มีความเสี่ยงหรือมีภาวะของโรคมะเร็งในระยะเริ่มต้น เพื่อช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษาก่อนที่อาการโรคจะลุกลามและรุนแรงจนนำไปสู่การเสียชีวิต

    รัฐบาลตระหนักถึงความร้ายแรงต่อสุขภาพจากโรคมะเร็งร้ายนี้ ประกอบกับรุกนโยบาย “30 บาทรักษาทุกที่” จึงมอบ สปสช. สนับสนุนการให้บริการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งมาอย่างต่อเนื่อง บรรจุเป็นสิทธิประโยชน์บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) ที่มอบให้กับประชาชนไทยทุกคน ทุกสิทธิ ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายให้บริการ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และในปีงบประมาณ 2568 สปสช. ยังคงดำเนินการจัดสรรงบประมาณจำนวน 800.19 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนบริการตรวจคัดกรองมะเร็งต่อเนื่องใน 6 รายการ

    ได้แก่ บริการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก, บริการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรงด้วยวิธี FIT Test, บริการตรวจยีน BRCA1/BRCA2 ในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่มีความเสี่ยงสูงและญาติสายตรงที่มีประวัติครอบครัวตรวจพบยีนกลายพันธุ์, บริการคัดกรองรอยโรคเสี่ยงมะเร็งและมะเร็งช่องปาก, บริการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยเครื่องแมมโมแกรมและอัลตราซาวด์ และบริการตรวจคัดกรองโรคพยาธิใบไม้ตับ ด้วยการตรวจปัสสาวะ

    “บริการคัดกรองโรคมะเร็งทั้ง 6 รายการข้างต้นนี้ เป็นการคัดกรอง 5 โรคมะเร็งร้าย ในรายการบริการสร้างเสริมสุขภาพฯ บัตรทองของคนไทยทุกคน ดังนั้นผมขอเชิญชวนคนไทยทุกๆ คนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายบริการในแต่ละรายการ ขอให้เข้ารับบริการเพื่อดูแลสุขภาพตนเอง ซึ่งหากพบภาวะเสี่ยงหรือภาวะเจ็บป่วยในระยะเริ่มต้นจะได้เข้าสู่การรักษาก่อนโรคลุกลาม ขณะเดียวกันยังช่วยลดภาระงบประมาณด้านการรักษาพยาบาล เพราะการรักษามะเร็งในระยะท้ายจะมีค่าใช้จ่ายที่สูงมากสวนทางกับโอกาสในการรักษา ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าละเลยรีบใช้สิทธิบัตรทองเข้ารับบริการได้ตามหลักเกณฑ์และหน่วยบริการที่ สปสช. กำหนด” รมว.สาธารณสุข กล่าว

    ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า สำหรับข้อมูลแต่ละรายการบริการนั้น เริ่มจากบริการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก เป็นสิทธิประโยชน์บริการดูแลผู้หญิงไทยทุกสิทธิมาอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2548 ปัจจุบันครอบคลุมบริการตรวจทั้งวิธีแปปสเมียร์ (Pap smear) และ VIA รวมถึงวิธีเอชพีวี ดีเอ็นเอ (HPV DNA Test) ที่มีความแม่นยำสูง และยังได้เพิ่มเติมสิทธิประโยชน์ชุดเก็บตัวอย่างสิ่งส่งตรวจด้วยตนเอง (HPV self-sampling)

    โดยร่วมกับสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ ที่ช่วยเพิ่มความสะดวกในการรับบริการด้วย โดยปีงบประมาณ 2567 ที่มีผู้เข้ารับบริการถึง 1.54 ล้านคน ซึ่งเกินเป้าหมายตามงบประมาณที่ได้รับจัดสรร คิดเป็นร้อยละ 104.77 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ดำเนินการเกินจากเป้าหมายที่ตั้งไว้ ทั้งนี้ส่งผลให้ผู้ที่เข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกผลการตรวจคัดกรองพบความเสี่ยงหรือผิดปกติ ได้เข้ารับการส่องกล้องในปีงบประมาณ 2567 อยู่ที่ร้อยละ 30 และนำไปสู่การรักษาตามสิทธิการรักษาพยาบาลของแต่ละคนต่อไป 

    อย่างไรก็ดีกรณีที่ผลการคัดกรองที่มีความผิดปกติขอให้หน่วยบริการช่วยเร่งประสานหรือส่งต่อเพื่อเข้ารับการตรวจยืนยันด้วยการส่องกล้อง รวมถึงการตัดชิ้นเนื้อและตรวจทางพยาธิวิทยาให้ครอบคลุมครบถ้วนมากขึ้น ดังนั้นในปีงบประมาณ 2568 สปสช. จึงสนับสนุนการให้บริการอย่างต่อเนื่อง สำหรับผู้หญิงไทยทุกคนอายุตั้งแต่ 30 – 59 ปี หรืออายุ 15 -29 ปี กรณีที่มีความเสี่ยงสูง โดยจัดสรรงบประมาณรองรับจำนวน 447.46 ล้านบาท กำหนดเป้าหมายบริการจำนวน 2,198,800 คน

    มะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นหนึ่งในโรคมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับต้นๆ

    บริการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรงด้วยวิธี FIT Test เป็นที่ทราบกันดีว่ามะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นหนึ่งในโรคมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับต้นๆ โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงวัย ในปี 2561 สปสช. จึงจัดสิทธิประโยชน์เพื่อให้บริการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ฯ ด้วยวิธี FIT Test ที่เป็นวิธีการตรวจตามมาตรฐานทางการแพทย์ เมื่อพบความผิดปกติ แพทย์จะพิจารณาทำการตรวจยืนยันด้วยการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) ในบางรายอาจจะตรวจชิ้นเนื้อ (Biopsy) ร่วมด้วย เป็นบริการสำหรับประชาชนอายุ 50 -70 ปี

    โดยปี 2567 มีผู้ได้รับบริการทั้งสิ้น 1,331,975 คน มีผลการตรวจพบความผิดปกติร้อยละ 7.63 ที่นำไปสู่การรักษา ฉะนั้นในปีงบประมาณ 2568 สปสช. จึงได้จัดสรรงบประมาณจำนวน 115.30 ล้านบาทเพื่อให้บริการต่อเนื่อง กำหนดเป้าหมายบริการจำนวน 1,921,600 คน

    บริการตรวจยีน BRCA1/BRCA2 ในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่มีความเสี่ยงสูงและญาติสายตรงที่มีประวัติครอบครัวตรวจพบยีนกลายพันธุ์ ในกลุ่มผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป เป็นสิทธิประโยชน์ที่สปสช. เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2566 เพื่อค้นหาผู้ที่มีภาวะเสี่ยงและติดตามเฝ้าระวังโรค ซึ่งที่ผ่านมา สปสช. ยังได้เพิ่มเติมการจัดทำแบบประเมินคัดกรองเพื่อเข้ารับบริการตรวจยีน BRCA1/BRCA2 นี้ โดยปีงบประมาณ 2567 มีผู้เข้ารับบริการจำนวน 4,478 ราย หรือร้อยละ 56.29 อย่างไรก็ดีในปีงบประมาณ 2568 สปสช. ยังคงสนับสนุนบริการนี้อย่างต่อเนื่อง จัดสรรงบประมาณจำนวน 41.51 ล้านบาท กำหนดเป้าหมายบริการจำนวน 6,870 คน

    บริการคัดกรองรอยโรคเสี่ยงมะเร็งและมะเร็งช่องปาก เป็นบริการสำหรับคนไทยทุกคนที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป โดยมีสิทธิเข้ารับบริการคัดกรองฯ ปีละ 1 ครั้ง เพื่อค้นหาผู้ป่วยระยะแรกให้เข้าสู่กระบวนการรักษาก่อนลุกลามสู่ระยะที่ 3 และ 4 ทั้งนี้ จากการดำเนินการปีงบประมาณ 2567 มีผู้เข้ารับบริการจำนวน 10,220 คน ผลงานตรวจเนื้อเยื่อจำนวน 9,784 ราย หรือร้อยละ 95.73 และในปี 2568 ได้จัดสรรงบประมาณ 35.57 ล้านบาท เพื่อจัดบริการคัดกรองต่อเนื่อง สำหรับประชาชนไทยอายุ 40 ปีขึ้นไป กำหนดเป้าหมายให้บริการจำนวน 59,278 คน

    นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่าในส่วนอีก 2 บริการคัดกรองโรคมะเร็งนั้น จะเป็นรายการใหม่ที่ได้เริ่มให้บริการในปีงบประมาณ 2568 ที่ได้ร่วมกับ ได้แก่ บริการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยเครื่องแมมโมแกรมและอัลตราซาวด์ ซึ่งเป็นการให้บริการตามแนวทางคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยเครื่องแมมโมแกรม และอัลตราซาวด์ ของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ สำหรับหญิงไทยทุกสิทธิที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป และเข้าเกณฑ์เป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีประวัติญาติสายตรงเป็นมะเร็งเต้านม เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการ โดยจัดสรรงบประมาณรองรับแล้วจำนวน 100.15 ล้านบาท กำหนดเป้าหมายบริการ 41,730 คน

    และบริการตรวจคัดกรองโรคพยาธิใบไม้ตับด้วยการตรวจปัสสาวะ โดยชุดตรวจพยาธิใบไม้ตับสำเร็จรูปชนิดเร็ว (OV-RDT) ที่พัฒนาโดยศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคมะเร็งท่อน้ำดี โรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และได้รับการขึ้นทะเบียนในบัญชีนวัตกรรมโดยกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการ ตรวจพบและรักษาผู้เป็นโรคพยาธิใบไม้ตับได้ตั้งแต่ระยะแรก เป็นสิทธิให้บริการปีละ 1 ครั้ง อายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปที่มีภาวะเสี่ยง คือมีประวัติการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับ เคยกินยาถ่ายพยาธิใบไม้ตับ และมีประวัติการกินปลาน้ำจืดสุกๆ ดิบ โดยปีงบประมาณ 2568 สปสช. จัดสรรงบประมาณรองรับจำนวน 60.19 ล้านบาท กำหนดเป้าหมายบริการ 264,000 คน

    hfocus team tipe Sun, 05/04/2025 - 10:22